ภาพรวม

ปัจจุบันการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล รวมทั้งงานเภสัชกรรมผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องพัฒนาคุณภาพทั้งในระบบการจัดหา การจัดการ และการควบคุมยาที่ใช้ในโรงพยาบาลให้ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยและความถูกต้องในการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยวิธีการจ่ายยาอย่างมีประสิทธิภาพได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยีมาใช้กับระบบระเบียนเวชที่สั่งยาจากแพทย์ผู้ตรวจ (อ้างอิง: กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ และสัญญา ศรีรัตน์.(2548). การสำรวจการใช้ ระบบสารสนเทศแบบ คอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลในประเทศไทย.วารสารวิชาการสาธารณสุข.14(5):830-39.) เพื่อลดข้อผิดพลาดจากการอ่านใบสั่งยา ข้อมูลของผู้ป่วยกับยาที่ต้องการจะถูกส่งตรงมายังห้องยาเพื่อจัดยาให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตามก็ยังมีประเด็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาดทางยา (Medication Error) เช่น ยาที่มีชื่อคล้ายกัน ยาที่มีขนาด รูปร่าง และสีใกล้เคียงกัน แม้แต่ความเข้มข้นของยาชนิดเดียวกันก็ตาม การจ่ายยาผิดนำมาซึ่งการฟ้องร้องของผู้ป่วย ซึ่งมูลค่าความเสียหายจากการเสียชื่อเสียงของโรงพยาบาลสูงจนไม่สามารถประเมินค่าได้ ผู้ป่วยขาดความเชื่อมั่นในการรักษา นอกจากนี้ ปัญหาของเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของฝุ่นละอองยา ขณะที่เภสัชกรจัดยาจะมีฝุ่นละอองยา ซึ่งการสูดดมไปนานๆ จะเกิดการสะสม ก่อให้เกิดโรคได้ ถ้าที่ห้องยามีเครื่องนับและจ่ายยาอัตโนมัติก็จะช่วยงานของเภสัชกร และสร้างความปลอดภัยได้ โดยที่ข้อมูลยาจากแพทย์ที่ใช้ระบบการสั่งการรักษาด้วยคอมพิวเตอร์ CPOE จะ Online มาที่เครื่องนับและจัดยาโดยตรง เภสัชกรเป็นผู้ตรวจสอบยาก่อนส่งมอบให้กับผู้ป่วยจึงทำให้ประหยัดเวลาในภาพรวม และเภสัชกรเองก็มีเวลาในการให้คาแนะนำในเรื่องของการใช้ยาที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยมากขึ้นด้วย ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบการจ่ายยาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของโรงพยาบาลเชื่อมต่อ Online มายังเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติเพื่อจัดยาที่ห้องยา 2 ระบบ คือ

1. ยูนิตโด๊ส (Unit Dose) ผู้ป่วยใน
2. จัดยาแบบ Prepack ผู้ป่วยนอก

ระบบ Unit Dose คือ ระบบการจัดยาแบบเป็นมื้อ โดยมีเภสัชกรเป็นศูนย์กลาง (Pharmacist Centric) ในการตรวจสอบยาที่มาจากเครื่องฯ แล้วส่งต่อให้กับพยาบาลประจำหอผู้ป่วยเพื่อกระจายยาส่งมอบให้ผู้ป่วยอย่างถูกต้อง เพราะที่ซองยาได้ระบุชื่อของผู้ป่วย ชนิด ขนาด จำนวน และการใช้ยา พร้อมวันหมดอายุ ซึ่งการใช้เครื่องจ่ายยาอัตโนมัตินี้ นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของยาที่เก็บไว้ตามหอผู้ป่วยแล้ว ยังทำให้ระบบการจ่ายยามีความรวดเร็ว ถูกต้อง และปลอดภัยมากขึ้น ผู้ป่วยของโรงพยาบาลมีความพึงพอใจ รวมถึงผู้ป่วยสูงอายุ ระบบนี้สามารถจัดยาเป็นมื้อเพื่ออำนวยความสะดวกในการรับประทานยาเองที่บ้าน ลดปัญหาความสับสนในการจัดยาแยกมื้อเอง เนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุมักมีปริมาณ ชนิดของยา และ ความแตกต่างของมื้อที่รับประทานยามาก ไปตามอาการที่เป็น

ระบบ Prepack คือ ระบบการจัดยาไว้ล่วงหน้าอยู่ในรูปของ Vial ระบบนี้จะมีข้อดีคือ ความรวดเร็ว และ ความแม่นยำในการบริการผู้ป่วย เช่น ในช่วงที่มีโรคระบาด มีผู้ป่วยมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ต้องรอรับยาเป็นเวลานาน เมื่อผู้ป่วยมารวมกันเป็นจำนวนมากเกิดความแออัด และการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยสู่ผู้ป่วยมากขึ้น เครื่องนับยาจะช่วยให้การจ่ายยาทำได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยกลับไปทำงานตามปกติได้เร็วขึ้น ลดการแพร่ระบาดของเชื้อ

จากรายงานนิพนธ์ต้นฉบับ : การบริหารทางเภสัชกรรม เรื่อง ต้นทุนการจัดการและความ
คลาดเคลื่อนทางยาระบบการกระจายยาแบบยูนิตโด๊ส : ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการใช้เครื่องนับเม็ดยาอัตโนมัติกับแรงงานคน ของคุณวินิดา ศรีกุศุลานุกูลและคณะ กับกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลมะการักษ์ พบว่า ความคลาดเคลื่อนทางยาระบบการกระจายยาแบบยูนิตโด๊สโดยใช้เครื่องนับเม็ดยาอัตโนมัตินั้น มีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่าระบบใช้บุคลากร คือ ร้อยละ 0.65 (4/611) และร้อยละ 1.93 (11/570) ตามลำดับ (เทียบกับรายการยาที่จัดทั้งหมด) จากปัญหาดังกล่าวจึงมีการนำเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติที่มีระบบจ่ายยาแบบยูนิตโด๊ส และแบบ Prepack เข้ามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา หน่วยงานจึงขอการสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดซื้อเครื่องนับยาอัตโนมัติเพื่อปรับระบบการกระจายยาให้เหมาะสมกับโรงพยาบาล และเป็นไปตามมาตรฐานระบบประกันสุขภาพ